ปภ.ประกาศเตือน 49 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 4 (237/2567) แจ้งว่า พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน เคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลาง

ในช่วงวันที่ 26-28 ต.ค. โดยพายุนี้จะไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่จะทำให้มีลมฝ่ายตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดเข้าหาศูนย์กลางของพายุมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีลมแรงบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง หลังจากนั้นพายุจะเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวออกห่างจากชายฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามกลับไปทางทะเลจีนใต้ตอนบน

นอกจากนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในช่วงวันที่ 26-29 ต.ค. ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังระหว่างวันที่ 26-29 ต.ค.แยกเป็น

ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ (อ.น้ำปาด) สุโขทัย (อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ) พิษณุโลก (อ.นครไทย อ.วังทอง อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ อ.เนินมะปราง) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ อ.หนองไผ่ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก อ.บึงสามพัน) อุทัยธานี (อ.บ้านไร่) และนครสวรรค์ (อ.แม่วงก์ อ.แม่เปิน)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เลย (อ.นาด้วง อ.ภูเรือ) นครพนม (อ.เมืองฯ อ.ศรีสงคราม อ.ท่าอุเทน อ.ธาตุพนม อ.บ้านแพง อ.นาหว้า อ.นาทม อ.เรณูนคร) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ อ.คอนสวรรค์) มุกดาหาร (อ.เมืองฯ อ.หว้านใหญ่ อ.ดอนตาล) ยโสธร (อ.เมืองฯ อ.ป่าติ้ว อ.คำเขื่อนแก้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ อ.ชานุมาน) นครราชสีมา (อ.ปากช่อง อ.วังน้ำเขียว) ศรีสะเกษ (อ.เมืองฯ อ.ยางชุมน้อย) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ อ.นาตาล อ.ตาลสุม อ.ศรีเมืองใหม่ อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร อ.เขมราฐ อ.โพธิ์ไทร)

ภาคกลาง 23 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อ.เมืองฯ อ.ด่านมะขามเตี้ย) ราชบุรี (อ.ปากท่อ อ.สวนผึ้ง) สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ อ.ด่านช้าง) ชัยนาท (อ.หันคา) สิงห์บุรี (อ.อินทร์บุรี อ.พรหมบุรี) อ่างทอง (อ.ป่าโมก อ.วิเศษชัยชาญ) พระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน อ.บางไทร) ลพบุรี (อ.สระโบสถ์ อ.ลำสนธิ อ.ชัยบาดาล) สระบุรี (อ.แก่งคอย) นครนายก (อ.เมืองฯ อ.ปากพลี อ.บ้านนา) ปราจีนบุรี (อ.เมืองฯ อ.ประจันตคาม อ.นาดี อ.กบินทร์บุรี อ.ศรีมหาโพธิ) สระแก้ว (อ.เมืองฯ อ.อรัญประเทศ) ชลบุรี (อ.เมืองฯ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ อ.บ้านค่าย อ.ปลวกแดง อ.นิคมพัฒนา) จันทบุรี (อ.เมืองฯ อ.ขลุง อ.ท่าใหม่ อ.เขาคิชฌกูฏ อ.มะขาม) ตราด (ทุกอำเภอ) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน) ประจวบคีรีขันธ์ (อ.บางสะพาน อ.หัวหิน) ปทุมธานี (อ.เมืองฯ อ.ธัญบุรี อ.คลองหลวง) นนทบุรี (อ.เมืองฯ อ.ปากเกร็ด) นครปฐม (อ.เมืองฯ อ.บางเลน) สมุทรสาคร (ทุกอำเภอ) และสมุทรปราการ (อ.เมืองฯ อ.บางพลี อ.บางเสาธง)

ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร (อ.พะโต๊ะ อ.หลังสวน) สุราษฎร์ธานี (อ.พุนพิน อ.พระแสง อ.เวียงสระ อ.ชัยบุรี) นครศรีธรรมราช (อ.ลานสกา อ.นบพิตำ อ.ทุ่งใหญ่) พัทลุง (อ.กงหรา อ.ควนขนุน) สงขลา (อ.เมืองฯ อ.หาดใหญ่ อ.รัตภูมิ อ.ควนเนียง) ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.เมืองฯ อ.คุระบุรีอ. ตะกั่วป่า อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วทุ่ง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ อ.เหนือคลอง อ.อ่าวลึก อ.คลองท่อม อ.ปลายพระยา อ.เกาะลันตา) ตรัง (อ.เมืองฯ อ.สิเกา อ.ย่านตาขาว อ.กันตัง อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา อ.วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมืองฯ อ.ควนโดน อ.ท่าแพ อ.ละงู)

กรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง จากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมาก พร้อมระวังอันตรายจากการสัญจรบริเวณที่มีฝนตกหนักและบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 49 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้

โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงหรือขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ให้จังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอพพลิเคชั่น “THAI DISASTER ALERT” และหากมีความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป