บอร์ดประกันสังคม แจงแล้ว! ที่มาอายุ 65 ปี ยันไม่เกี่ยวข้องอายุเกษียณผู้ประกันตน เด่นออนไลน์

บอร์ดประกันสังคม แจงที่มาอายุ 65 ปี เป็นการขยายคุณสมบัติผู้สมัครเข้า ม.33 – 39 ไม่เกี่ยวข้องอายุเกษียณ 55 ปี ยันไร้แนวทางขยับรับเงินบำนาญ

เมื่อวันที่ 6 ก.ย.2567รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ในบอร์ดประกันสังคม กล่าวถึงประเด็นการต่ออายุของกองทุนประกันสังคมว่า เข้าใจว่าตอนนี้ผู้ประกันตนกำลังเข้าใจผิดในประเด็นของการขยายอายุรับเงินบำนาญชราภาพเป็น 65 ปี ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ บอร์ดประกันสังคมได้หารือกันอยู่บ้าง

ข้อเท็จจริงคือ เดิมสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มีข้อกำหนดเรื่องอายุของผู้ที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39 ว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เราจำเป็นต้องบริหารจัดการกองทุน รวมถึงประเด็นสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี หรือคนเกษียณแล้ว แต่ได้ทำงานประจำที่ต้องสมัครประกันสังคมด้วย ดังนั้น บอร์ดประกันสังคมจึงมีแนวทางว่าควรขยายเพดานอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตนจาก 60 เป็น 65 ปี

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องอายุเกษียณของผู้ประกันตนนั้น ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุน คือ อายุ 55 ปี โดยผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี แล้วส่งเงินสมทบเข้ากองทุนมากกว่า 180 งวด จะสามารถรับเงินบำนาญชราภาพได้ ฉะนั้น เรื่องการขยายอายุเกษียณจะไม่เกี่ยวกับการขยายอายุผู้สมัครเป็นผู้ประกันตน

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องอายุเกษียณของผู้ประกันตนนั้น ทางบอร์ดสปส. ทั้งฝ่ายผู้ประกันตน และฝ่ายนายจ้าง มีความเห็นตรงกันคือ ไม่ควรขยายอายุไปมากกว่า 55 ปีแล้ว เนื่องจากผู้ประกันตนที่มีอายุมาก หลายคนเฝ้ารอการเกษียณอายุอยู่ อีกทั้งการขยายอายุเกษียณออกไปจะยิ่งทำให้คนไม่อยู่ในกองทุนประกันสังคมมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกันตนในช่วงอายุ 55 ปี ถือเป็นขาลงของรายได้ บางคนถูกเลิกจ้างตอนอายุ 53 – 54 ปี เขาก็กัดฟันรอเงินบำนาญตอนอายุ 55 ปี เพื่อให้เขาเลี้ยงชีพได้

ทั้งนี้ บอร์ดสปส. ต้องหาวิธีจูงใจให้ผู้ที่จะเกษียณอายุผู้ประกันตนตอนอายุ 55 ปี ให้ยังอยู่ในระบบกองทุนต่อไป เพื่อยืดอายุกองทุนต่อไป เช่น หากผู้ที่เกษียณช้าอาจได้รับสัดส่วนเงินบำนาญเพิ่มขึ้น แต่การเกษียณที่อายุ 55 ปี ก็ยังเป็นหลักการสำคัญอยู่

รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ส่วนมาตรการอื่น ๆ ในการต่ออายุให้กองทุนประกันสังคมนั้น จริง ๆ มีหลายวิธี เช่น การเพิ่มเงินสมทบเข้ากองทุนในส่วนของรัฐบาลให้มากขึ้น, การเพิ่มอายุของผู้ที่จะสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 จากเดิม 60 เป็น 65 ปี และการบริหารผลตอบแทนการลงทุน ที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี เทียบง่าย ๆ คือพอร์ตการลงทุน 2 ล้านล้านบาท คิดร้อยละ 3 ก็จะอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าขยับได้เป็นร้อยละ 5 จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาอีก 4 – 5 หมื่นล้านบาท ถ้าเราขยับแค่ตัวนี้ได้ อายุกองทุนก็จะขยายออกไปได้อีก 6 – 7 ปี

“สิ่งสำคัญและด่วนที่สุดของประกันสังคม คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกันตน เพราะหากคนไม่เชื่อมั่น ไม่ต้องพูดถึงหลัก 20 ปี พูดถึงแค่ 2–3 ปีจากนี้ จะมีปัญหาได้ถ้าประกันสังคมไม่ได้ดูแลคนได้ดีพอ สัปดาห์ที่ผ่านมาบอร์ดสปส.ได้อนุมัติการเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาท นี่ก็เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นได้โดยไม่กระทบกองทุน” รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว