สำนักข่าวซินหัว เปิดเผยตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสด ผ่านด่านโหย่วอี้กวน หรือ ด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนาม กว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุด โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีการนำเข้าทุเรียนจำนวน 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าราว 9.25 พันล้านบาท
ที่น่าสนใจ เป็นการนำเข้าจากเวียดนามมากถึง 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48.1 ขณะที่นำเข้าจากไทย 13,000 ตัน ลดลงร้อยละ 59.5 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยคนวงในอุตสาหกรรม มองว่า ปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ จากผลกระทบสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและแล้ง กระทบต่อผลผลิตทุเรียน
ขณะที่ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน ชี้ว่า สถานะ “ผู้นำ” ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยกำลังถูกท้าทายจากทุเรียนเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีน ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้บริหารบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ ผู้นำเข้าทุเรียนรายใหญ่ เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น
แต่หลังปี 2023 นำเข้าทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง ตามความต้องการของผู้บริโภคในจีน โดยเวียดนามได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น มีความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่ไทยยังทำแบบครัวเรือน โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 เป็นต้นมา ทุเรียนไทยเริ่มครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง ขณะเดียวกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศในอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน และมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี
ซึ่งคนวงในอุตสาหกรรม ชี้ว่า ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดแล้ว ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ “ผู้นำ” ในตลาดจีน